วิสัยทัศน์ นายก สสดย.
วิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพการสื่อสารผ่านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนอย่างมีสุขภาวะ

-
เด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ
-
การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ มีความสามารถ มีทักษะในการใช้ชีวิต มีความสามารถในการปรับตัวเป็นคนดีของสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้น จำเป็นต้องมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิดและในทุกช่วงอายุ
-
การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเริ่มจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่บ่มเพาะความรู้ แนวคิด ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนอุปนิสัยของเด็กและเยาวชน
-
ปัจจุบัน สื่อกลายเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งใหม่ที่สามารถกระตุ้นการรับรู้และดึงดูดความสนใจจากเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาล เรื่องราวที่เด็กสนใจใคร่รู้ จึงเปิดกว้างให้เด็กเข้าไปค้นหาอย่างอิสระ
-
ในขณะที่สื่อดั้งเดิม ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯลฯ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ก็พัฒนารูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจโดยมีเป้าหมายการนำเสนอในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น
-
ดังนั้น เนื้อหาการนำเสนอส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบต่างๆทั้งละคร เพลง เกมโชว์ ข่าวบันเทิงของดารานักร้อง แฟชั่น โฆษณาขายสินค้าและบริการซึ่งสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ธุรกิจสื่อและเจ้าของสินค้า
-
รูปแบบและเนื้อหารายการที่มีคุณภาพและสร้างสุขภาวะสำหรับเด็กและเยาวชนในสื่อหลายประเภทยังคงมีไม่เพียงพอ
-
ในปัจจุบันยังพบว่า เด็กและเยาวชนใช้เวลาไปในการใช้สื่อใหม่มากขึ้น และเน้นความบันเทิงและกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าจะสนใจในประเด็นที่เป็นปัญหาสังคมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัวของเด็กและเยาวชนเอง
-
การเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อโดยขาดการคิดวิเคราะห์ และความรู้เท่าทันสื่อทำให้เด็กและเยาวชน ซึมซับแบบแผนการใช้ชีวิตพฤติกรรม ค่านิยม วัฒนธรรมต่างชาติ กระแสการบริโภคนิยม ส่งผลต่อทัศนคติ ความคิดและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อที่ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริงหรือไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงในสังคม
-
และอาจเกิดภัยอันตรายขึ้นได้จากการถูกล่อลวง เนื้อหาไม่เหมาะสม การกลั่นแกล้ง การก่อให้เกิดความไม่พอใจ การก่อให้เกิดความเข้าใจผิด การใช้เวลาในทางที่ไม่สร้างสรรค์ การกระทำผิดกฎหมาย และการก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
-
สื่อถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างต้นทุนชีวิต (Developmental Assets) ด้านพลังปัญญา และมีอิทธิพลต่อผู้คนมากมาย
-
ดังนั้น ถ้าไม่มีการคัดกรองสื่อที่เหมาะสม ทั้งสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ สื่อก็จะกลายร่างเป็นเครื่องมืออันตรายสำหรับเด็กได้ทั้งนั้น และยังเป็นตัวการดึงเด็กๆ ให้ห่างไกลจากครอบครัวและชุมชนอีกด้วย
ดังนั้น การสื่อสารผ่านสื่อของเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ควรมีกรอบแนวคิดเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) และควรมีการตื่นรู้ทางปัญญา (Spiritual Literacy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งลำพังเพียงตัวเด็กและเยาวชนเองคงไม่สามารถสร้างกรอบเหล่านี้ขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้ดีนัก ต้องอาศัยแรงกำลังจากหลายฝ่าย ซึ่งนอกจากครอบครัวและสถาบันการศึกษาจะต้องทำหน้าที่ตนเองอย่างเข้มแข็งแล้ว หน่วยงานระดับนโยบาย ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมก็จะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันตัวแก่เด็กเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ และเกิดการตื่นรู้ทางปัญญาไปพร้อมๆ กันด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นจริยธรรมของผู้ผลิตหรือผู้เผยแพร่สื่อเพื่อเด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องที่องค์กรกำกับดูแล องค์กรคุ้มครองเด็ก และสังคมโดยภาพรวม ต้องร่วมกันติดตามและเฝ้าระวังไม่ให้มีการผลิตและเผยแพร่สื่อที่ละเมิดสิทธิเด็ก
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจการสร้างคุณภาพให้แก่การสื่อสารผ่านสื่อทุกประเภท โดยมีจริยธรรมกำกับ พร้อมสนับสนุนให้มุ่งนำเสนอเนื้อหาในทางสร้างสรรค์สังคมและทำอย่างไรให้เยาวชนหันมาสนใจเสพสื่อที่มีคุณภาพ และสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง ปัญหาสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ และปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้น พร้อมกันนั้นยังต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็ง ตื่นรู้ และรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในสังคมแก่เด็กและเยาวชนด้วย
จึงได้นำเสนอพันธกิจการทำงานของโครงการฯ ในปี ๒๕๖๐ ใหม่ดังนี้
-
สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้สังคมตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน
-
พัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนโดยมีจริยธรรมวิชาชีพกำกับ และขยายเครือข่ายผู้ทำงานเพื่อพัฒนาสื่อคุณภาพสำหรับเด็กและเยาวชน
-
สร้างนวัตกรรม และภูมิปัญญาด้านการสื่อสารที่มุ่งส่งเสริม และพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีคุณภาพ
-
ส่งเสริม และผลักดันเชิงนโยบายให้มีการเพิ่มเนื้อหา สัดส่วนของสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และนำเสนอเนื้อหาของสื่อให้มีความสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กและเยาวชนแต่ละช่วงวัย
-
ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่สื่อที่เหมาะสม และมีคุณภาพสำหรับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย อย่างกว้างขวางและทั่วถึง และสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในแต่ละท้องถิ่น
วัตถุประสงค์
-
เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพแก่นักสื่อสารสุขภาวะ ในการสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้จริยธรรมสื่อเพื่อเด็กกำกับ
-
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อที่สร้างสุขภาวะสำหรับเด็กและเยาวชน ให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่แพร่หลายกว้างขวางมากขึ้น
-
เพื่อสนับสนุนและต่อยอดสื่อสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับการเผยแพร่สู่สังคมโดยรวม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสื่อดีที่จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นโรงเรียนของชุมชนตลอดชีวิต
-
เพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่านการศึกษาค้นคว้าและการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสื่อสารสุขภาวะเพื่อเด็กและเยาวชน และสังคมโดยภาพรวม และต่อยอดองค์ความรู้เดิมเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปให้ดียิ่งขึ้น
-
เพื่อร่วมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษาวิจัย ในการส่งเสริมสนับสนุนสื่อคุณภาพ ผ่านพลังของภาคีเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์ให้ได้รับการเผยแพร่สู่สังคม
เป้าหมาย
-
เกิดนักสื่อสารสุขภาวะที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถสร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัย โดยมีจริยธรรมสื่อเพื่อเด็กกำกับ และสามารถสร้างสรรค์สื่อดีแก่ชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัยได้
-
เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในสื่อที่มีคุณภาพทั้งทางด้านรูปแบบและเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นโรงเรียนของชุมชนตลอดชีวิต
-
มีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสื่อสารสุขภาวะเพื่อเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อ การฉลาดรู้ด้านสุขภาพ และพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ทางปัญญาในทุกพื้นที่
-
เกิดปัจจัยแวดล้อม และกลไกการสนับสนุนในระดับนโยบาย เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปสู่เด็กและเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะบนฐานความตื่นรู้ของพลเมือง ผ่านพลังของภาคีเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน
กลุ่มเป้าหมาย
-
นักสื่อสารที่เป็นผู้นำชุมชน ทั้งนักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และผู้นำชุมชน ที่สามารถนำข้อมูลความรู้ไปขยายผลและพัฒนาต่อยอดสู่การปฏิบัติจริงในชุมชนแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ข่าวสารที่นำเสนอไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และใช้จริยธรรมสื่อเพื่อเด็กกำกับ
-
นักสื่อสารผ่านสื่อแขนงต่างๆ ทั้งสื่อเก่า และสื่อใหม่
-
นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วประเทศ
-
ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน
-
ภาคีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการสื่อสารเพื่อเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ
โดยจะนำพา สสดย. ให้ก้าวสู่ การเป็นองค์กรนำในการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตสื่อ และส่งเสริม / สนับสนุนการสร้างสื่อสร้างสรรค์ทุกประเภทสำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ
…. ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสมาคมที่ได้เคยกำหนดร่วมกันไว้